วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แซนโฎนตา



         เมื่อก่อนใครจะมารับราชการที่ขุขันธ์ ต้องนำหม้อกับผ้าขาวติดตัวมาด้วย เอาไว้ใส่กระดูกกลับบ้าน เพราะมันกันดาร
        เป็นคำกล่าวถึง อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ในอดีต ... แม้ปัจจุบันเอง เชื่อว่าชื่อนี้คงไม่เคยผ่านหูผ่านตาใครอีกหลาย ๆ คน แต่โบราณบริเวณแถบนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนชาวกวยและเขมร ซึ่งเรียกรวมว่า เขมรป่าดง มีชุมชนสำคัญคือ บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ตากะจะ หัวหน้าชุมชน ทำความดีความชอบตามจับพญาช้างเผือก จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ก่อนจะยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ขึ้นเป็นเมืองขุขันธ์ในกาลต่อมา และหลวงแก้วสุวรรณได้เลื่อนเป็น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก 

     แซนโฎนตา เปรียบได้กับ บุญสารท ของคนไทย ภาษาเขมรเรียก บนผจุมเบ็ญ แห่บายตะเบิ๊ดตะโบร หรือบุญเดือน 10 ซึ่งเป็นการทำบุญประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่สมัยขอมโบราณ เพื่ออุทิศกุศลบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ซึ่งอยู่รับโทษตามอกุศลกรรมที่ทำไว้ในอบายภูมิ เชื่อว่าในรอบ 1 ปี จะได้รับโอกาสให้ขึ้นไปรับบุญกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องได้ 1 ครั้ง ในเดือน 10 ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ ซึ่งลูกหลานจะได้เตรียมสำรับอาหารข้าวต้มขนมหวาน ผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้หลายอย่าง รอคอยอยู่ที่บ้าน



           วันแรม 13 ค่ำ ลูกหลานจะทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมเครื่องสักการะ เช่น ข้าวตอก ดอกไม้ น้ำอบน้ำหอม เครื่องนุ่งห่มสวยงาม ไปจนกระทั่งแก้วแหวนเงินทองของมีค่า ไว้ให้โดนตาสวมใส่ ส่วนเครื่องเซ่นไหว้ก็จะเป็นอาหารหวานคาว พืชผักผลไม้ ข้ามต้มขนมหลายอย่างซึ่งขาดไม่ได้ เช่น ข้าวต้มหมู, ข้าวต้มกล้วย, ข้าวต้มด่าง ลักษณะเหมือนบ๊ะจ่างไม่ไม่เครื่อง, ข้าวต้มมะพร้าว ใช้กะทิสดคลุกข้าวสารเหนียวที่แช่น้ำพอนิ่ม เคล้าเกลือแล้วห่อด้วยใบมะพร้าว, ขนมเทียน, ขนมเข่ง, กระยาสารท ใส่กระทงพุ่มแหลม ทำกรวยใบตองครอบปักไข่ต้มไว้บนยอด ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น